พีเอชพี (PHP) คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ในลักษณะเซิร์ฟเวอร์-ไซด์ สคริปต์ โดยลิขสิทธิ์อยู่ในลักษณะโอเพนซอร์ส ภาษาพีเอชพีใช้สำหรับจัดทำเว็บไซต์ และแสดงผลออกมาในรูปแบบ HTML โดยมีรากฐานโครงสร้างคำสั่งมาจากภาษา ภาษาซี ภาษาจาวา และ ภาษาเพิร์ล ซึ่ง ภาษาพีเอชพี นั้นง่ายต่อการเรียนรู้ ซึ่งเป้าหมายหลักของภาษานี้ คือให้นักพัฒนาเว็บไซต์สามารถเขียน เว็บเพจ ที่มีความตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว (ที่มา : http://th.wikipedia.org/ภาษาพีเอชพี)
จะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับเขียนโปรแกรมติดต่อกับฐานข้อมูล เพื่อนำไปแสดงผลบนอินเตอร์เน็ตตามความต้องการของผู้ใช้งานที่คลิกเข้าไปนั่น เอง
การเขียนโปรแกรมจะมีอยู่ 2 แบบครับ (ส่วนของ MOBILE APP จะขอไม่กล่าวถึงนะครับ ^^")
- Windows based Application (Desktop Application)
- Web based Apllication
จะมีข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ การเรียกใช้ทรัพยากรของเครื่องต่างกัน
1. Windows based คือโปรแกรมที่ต้องติดตั้งกับเครื่องของผู้ใช้แต่ละคนแต่ละเครื่องโดยที่อาจ จะใช้ฐานข้อมูลเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน หรือฐานข้อมูลเครื่องใครเครื่องมันก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของโปรแกรมนั้นๆ หากเป็นกรณีที่ใช้ฐานข้อมูลร่วมกันจะมีการเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ แต่โปรแกรมที่ใช้งานจะอยู่ที่เครื่องใครเครื่องมัน ดังนั้นสเปกคอมพิวเตอร์ที่ใช้จะต้องใกล้เคียงกันตามข้อกำหนดของโปรแกรมนั้นๆ
2. Web based คือโปรแกรมที่ทำงานบนเว็บเซิร์ฟเวอร์โดยรันผ่านโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ทั่วไป เช่น Internet Explorer, Mozilla Firefox, Google Chrome, Opera, Safari ฯลฯ ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมหรือสคริปต์ที่พัฒนาขึ้นในแต่ละเครื่อง เพราะจะเรียกใช้งานผ่านเซิร์ฟเวอร์ด้วยเว็บเบราเซอร์ต่างๆ เหมาะสำหรับระบบจัดการข้อมูล และรายงานต่างๆ แต่ไม่เหมาะกับการควบคุมฮาร์ดแวร์เช่นลิ้นชักเก็บเงิน หรือฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ระบบ Windows based สามารถสั่งงานได้
ดูจากข้อมูลแล้วแน่นอนว่า PHP ต้องอยู่ในหมวดการเขียนโปรแกรมแบบ Web based เพราะเราจะเก็บสคริปต์ทั้งหมดที่เขียนขึ้นมาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ที่เดียว และให้ผู้ใช้งานเรียกข้อมูลผ่านเว็บเบราเซอร์ต่างๆ มาแสดงผลที่หน้าจอนั่นเอง
ถ้ายังสงสัยว่า PHP คืออะไร?
เรามาลองพูดถึงเรื่องของการสร้างเว็บไซต์ที่มีระบบจัดการเนื้อหา หรือส่วนของผู้ดูแลเว็บไซต์ที่จัดการได้ผ่านทางหน้าเว็บเองได้เลยนั้น หลายท่านคงจะนึกถึง Joomla, Wordpress, OpenCart, Drupal, SMF, phpBBและอีกหลายตัวที่มีจุดแข็งแตกต่างกันไป
ท่านทราบหรือไม่ว่า CMS ดังๆเหล่านี้สร้างด้วยภาษา PHP ทั้งหมด และข้อมูลที่มีการเพิ่มเข้าไปนั้นจะถูกเก็บเป็นไฟล์ และส่วนหนึ่งก็อยู่ในรูปแบบของฐานข้อมูลซึ่งโดยปกติแล้วก็จะใช้ฐานข้อมูล MySQL ที่คุ้นเคยกันมานาน
ดังนั้นภาษา PHP ก็สรุปได้ว่าเป็นภาษาที่ใช้สำหรับสร้างเว็บไซต์ที่มีระบบฐานข้อมูล หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ง่ายขึ้นด้วยการเขียนโปรแกรมจัดการไฟล์ และฐานข้อมูลด้วย PHP นั่นเองครับ
ส่วนของข้อดีข้อเสียนั้น ผมจะขอข้ามไปเลยละกันเพราะโปรแกรมแต่ละภาษาถ้าใช้ให้เหมาะกับงานก็นับว่ามี ข้อดีเยอะกว่าข้อเสีย อันนี้แล้วแต่จะพิจารณาไป แต่จะขอบอกถึงข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของการเขียนโปรแกรม 2 ประเภทนี้ดังนี้
1. PHP เก็บโปรแกรมหรือคำสั่งทั้งหมดไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนเวอร์ชั่น ผู้ใช้งานแต่ละเครื่องไม่จำเป็นต้องอัพเดตโปรแกรมตาม (เพราะไม่ได้ติดตั้งโปรแกรม) หากแต่ว่าเวอร์ชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปหมายถึงการแสดงผลที่เลิศหรูอลังการงาน สร้าง ด้วยสุดยอดเอฟเฟกต์ของเว็บเบราเซอร์รุ่นใหม่ๆล่ะก็ อันนี้ผู้ใช้งานก็ต้องอัพเดตโปรแกรมเว็บเบราเซอร์เพื่อใช้เรียกดูข้อมูลตาม ไปด้วยครับ
2. PHP ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมหรือคำสั่งไว้บนเครื่องผู้ใช้งานดังนั้นก็ประหยัด ฮาร์ดดิสก์ประหยัดแรมนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช้แรมนะครับ เพราะว่าโปรแกรมเว็บเบราเซอร์จะเป็นตัวช่วยเขมือบแรมให้เอง แต่อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องสเปกคอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องกำหนดตายตัวตามโปรแกรม ที่พัฒนาขึ้น ขอแค่เพียงมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานเว็บเบราเซอร์เพื่อเปิดดูข้อมูลจาก เซิร์ฟเวอร์ได้ก็พอ
3. PHP ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาทั้งหมดเป็นแบบโอเพ่นซอร์ส (Open source)
4. PHP พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถเรียกใช้งานได้หลายระบบปฏิบัติการ หรือ ข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-platform) ไม่ว่าจะใช้ Windows, Linux, Ubuntu ก็สามารถเข้าใ้ช้งานได้ หรือแม้กระทั่งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ เพียงแต่ปรับแต่งเรื่องการแสดงผลเพิ่มเติมเท่านั้น
นี่คือความคิดเห็นบางส่วนที่ได้สัมผัสจริง กับหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ชี้นำไปทางใดทางหนึ่ง หากจะเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่บางอย่าง PHP ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนโปรแกรมที่เป็น Windows based เช่นกัน
เกี่ยวกับ PHP แล้วมีส่วนที่ต้องศึกษาตามลำดับดังนี้
- โครงสร้างของ PHP
- เครื่องมือสำหรับเขียนโปรแกรม
- ตัวแปรใน PHP
- โอเปอเรเตอร์
- การทำงานแบบสร้างเงื่อนไข
- ข้อมูลชนิดอาร์เรย์
- การทำงานซ้ำ
- ฟังก์ชั่น
- การรับตัวแปรจากแบบฟอร์ม
- ทำงานกับฐานข้อมูล
- การเขียนโปรแกรม PHP แบบ OOP
- ทำความรู้จักกับ PHP Framework ที่ช่วยให้พัฒนาแอพพลิเคชั่นได้เร็วขึ้น
- ทำความรู้จักกับ Jquery ที่เป็น Javascript Framework ที่แนะนำให้ใช้
- ทำความรู้จักกับ CSS คำสั่งสำหรับจัดรูปแบบ และตกแต่งเว็บไซต์ให้สวยงาม
- ทำความรู้จักดับ HTML คำสั่งสำหรับแสดงผลข้อมูลบนหน้าเว็บเบราเซอร์
ติดตามบล็อก "PHP สำหรับผู้เริ่มต้น" ได้ที่นี่
"PHP ไม่ได้สร้างสุดยอดโปรแกรม แต่ PHP ช่วยให้งานคุณง่ายขึ้นต่างหาก"
PHP CI MANIA - PHP Code Generator
โปรแกรมช่วยสร้างโค้ด ลดเวลาการเขียนโปรแกรม
สนับสนุนค่ากาแฟผู้เขียนได้ที่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น